แผลเป็น มีกี่ประเภท วิธีรักษามีอะไรบ้าง
แผลสดหายไปแต่ไม่วายเหลือแผลเป็นทิ้งไว้ เป็นปัญหาที่สร้างความรำคาญใจให้หลายคนไม่น้อย แถมยังสร้างความไม่มั่นใจ ต้องคอยปกปิดอยู่ตลอดเวลา จะดีกว่าไหมหากรู้วิธีป้องกันหรือหากสายไปแล้วก็มีวิธีรักษาให้แผลเป็นนั้นจางลงได้
แผลเป็นมาจากไหน ?
แผลเป็นเกิดขึ้นจากกระบวนการหนึ่งของการรักษาแผลที่ร่างกายสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแผลจากอุบัติเหตุ แผลผ่าตัด แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก จะตามมาด้วยการผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่าคอลลาเจนเพื่อช่วยสร้างเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายขึ้นใหม่ ทำให้บาดแผลหายเป็นปกติในที่สุด จนเมื่อเวลาผ่านไปสัก 3 เดือน คอลลาเจนใหม่ก็ยังถูกผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเลือดก็มาเลี้ยงมากขึ้นจนแผลนูนเป็นก้อนแข็งและแดง หากคอลลาเจนเหล่านี้หยุดสร้าง และเลือดที่มาเลี้ยงลดลง แผลเป็นจะค่อย ๆ เรียบ นุ่มลง และจางไปในที่สุด
ข่าวร้ายก็คือเมื่อเกิดแผลเป็นแล้วจะไม่มีวันหายขาดได้ ทำได้เพียงรักษาให้จางลงเท่านั้น ปกติแผลเป็นอาจจางไปเองเมื่อเวลาผ่านไป แต่หากพ้นช่วง 2 ปีแรกก็มีโอกาสน้อยที่จะจางลงอีก
ทั้งนี้การเกิดแผลเป็นในแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมจึงมีโอกาสเกิดแผลเป็นมากกว่า โดยบริเวณที่เสี่ยงเกิดแผลเป็นได้ง่ายคือหน้าอก หลัง ติ่งหู และไหล่ และหากเป็นบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวของข้อต่อ เช่น หัวเข่าและไหล่ ก็ยิ่งทำให้แผลเป็นขยายออกกว้างขึ้นได้ง่าย
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแผลเป็น
– ในวัยเด็กจะเกิดแผลเป็นได้น้อยกว่าวัยผู้ใหญ่
– ผู้ชายจะเกิดแผลเป็นได้น้อยกว่าผู้หญิง
– ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นมากที่สุด คือ วัยรุ่น วัยเจริญพันธุ์ และผู้ที่มีผิวคล้ำ
– การเกิดแผลเป็นได้ง่ายเป็นความเสี่ยงทางพันธุกรรมด้วย
– บริเวณที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นได้ง่าย ได้แก่ หน้าอก หลัง ติ่งหู หัวเข่า และไหล่ เป็นต้น
– แผลเป็นไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับร่างกายภายนอกได้เท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นในอวัยวะภายในได้อีกด้วย
– แผลเป็นจะหายได้เร็วในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น มีความชื้น เป็นกรดด่าง และมีออกซิเจน
ประเภทของแผลเป็น
แผลเป็นสามารถแบ่งเป็นประเภทตามลักษณะของแผลที่แตกต่างกันไป ดังนี้
–แผลเป็นทั่วไป แผลเป็นที่อาจคุ้นหน้าคุ้นตากันดี เพราะพบได้บ่อยที่สุด เกิดขึ้นจากกระบวนการรักษาแผลตามธรรมชาติของร่างกาย แผลเป็นชนิดนี้แรกเริ่มมักปรากฏเป็นสีแดงหรือสีคล้ำ นูนขึ้นมาจากผิวหนัง หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ มีสีอ่อนและแบนลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาจใช้เวลาถึง 2 ปี แต่ใช่ว่าจะจางหายไปทั้งหมด ยังคงเหลือร่องรอยไม่น่าพึงพอใจทิ้งไว้เช่นเดียวกับแผลเป็นชนิดอื่น ๆ
แผลเป็นชนิดนี้มักไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด อาจมีอาการคันบ้าง แต่ก็เพียงช่วงเวลาไม่กี่เดือน และอาจมีลักษณะปรากฏเป็นสีค่อนข้างเข้มและไม่สวยงามเท่าไหร่นัก ลักษณะของแผลเป็นชนิดนี้ยังขึ้นอยู่กับความกว้างของแผลด้วย หากผิวหนังบริเวณขอบของแผลมาบรรจบกันเมื่อหายดี แผลเป็นนี้จะกลายเป็นเส้นบางและจางลง แต่หากแผลนั้นกว้างและผิวหนังบริเวณดังกล่าวหายไปมาก เนื้อเยื่อของแผลเป็นจะถูกสร้างขึ้นเพื่อมาเติมเต็มผิวหนังส่วนที่เสียหาย จึงทำให้แผลเป็นมีขนาดใหญ่และต้องใช้เวลานานกว่าจะจางลง
สำหรับคนผิวสีเข้ม แผลเป็นอาจจางลงแล้วทิ้งรอยสีน้ำตาลหรือสีขาวไว้ และมักคงอยู่อย่างถาวร แต่บางครั้งก็อาจเลือนลางตามเวลาได้เหมือนกัน และถ้ามีสีผิวที่ไหม้จากการโดนแสงแดดเป็นเวลานาน แผลเป็นชนิดนี้ก็อาจโดดเด่นขึ้นมา เพราะแผลจะปรากฏเป็นสีผิวเดิมตามธรรมชาติ
–แผลเป็นคีลอยด์ กระบวนการรักษาแผลที่คอลลาเจนถูกสร้างขึ้นมากผิดปกติ ทำให้เนื้อเยื่อของแผลเป็นที่เกิดขึ้นเติบโตจนเกินขอบเขตของแผลเดิมและขยายขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าแผลจะหายดีแล้วก็ตาม เป็นลักษณะของคีลอยด์
แผลเป็นคีลอยด์มักมีลักษณะนูนขึ้นจากผิวหนัง ค่อนข้างเป็นมันเงา และไม่มีขนขึ้นที่แผล ในระยะแรกของแผลจะมีสีแดงหรือม่วง หลังจากนั้นสีจึงค่อย ๆ ซีดลงไป ผิวสัมผัสจะให้ความรู้สึกแข็ง ๆ คล้ายยาง แต่คีลอยด์ในบางบริเวณก็อาจเกิดเป็นก้อนนุ่ม ๆ ได้ เช่น แผลเป็นที่ติ่งหูหลังการเจาะหู
แผลเป็นชนิดนี้ยังมักตามมาด้วยอาการคัน เจ็บ แสบร้อน หรือหากแผลตึงและเกิดใกล้ข้อต่อก็อาจส่งผลต่อการเคลื่อนไหวได้ด้วย ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องระวังเพราะมีโอกาสเกิดแผลเป็นชนิดนี้สูง ได้แก่ แผลบริเวณรอบ ๆ กระดูกหน้าอก แผ่นหลังส่วนบน ต้นแขนหรือหัวไหล่ และติ่งหู
–แผลเป็นนูน แผลเป็นนี้คล้ายคลึงกับคีลอยด์มากทีเดียว เพราะนอกจากจะเกิดจากการผลิตคอลลาเจนรักษาแผลที่ไม่สมดุลเหมือนกัน ลักษณะรูปร่างยังใกล้เคียงกับแผลเป็นคีลอยด์ที่มีสีแดงและนูนขึ้น เพียงแต่แผลเป็นนูนนั้นไม่ขยายกว้างขึ้นกว่าแผลเดิม
แผลเป็นนูนอาจจำกัดการเคลื่อนไหวให้ทำได้ไม่เต็มที่เหมือนปกติ เนื้อแผลเป็นหนาขึ้นกว่าเดิม จากนั้นค่อย ๆ แบนและเลือนลงในช่วงเวลา 2-5 ปี
–แผลเป็นจากแผลไหม้ ผิวหนังที่ถูกไหม้อาจพัฒนาจนเกิดแผลเป็นชนิดนี้ โดยจะทำให้ผิวหนังตึง และอาจส่งผลให้การเคลื่อนไหวบริเวณที่เกิดแผลทำได้ไม่เต็มที่ ที่น่ากลัวกว่านั้นคือแผลนี้สามารถเกิดลึกลงไปจนกระทบต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้
–แผลเป็นหลุมลึก ปัญหาสิวที่รุนแรงอาจทิ้งร่องรอยแผลเป็นไว้ไม่หาย ซึ่งแผลเป็นจากสิวนั้นมีทั้งชนิดที่เป็นหลุมลึกลงไป หรือปรากฏเป็นรอยยาวบนใบหน้า นอกจากนี้ปัญหาเกี่ยวกับผิวหนังที่เกิดจากโรค เช่น อีสุกอีใส ที่แม้จะรักษาจนหายดีแล้ว ก็ทิ้งรอยหลุมแผลเป็นฝากไว้ได้เช่นกัน
แผลเป็น รักษาอย่างไรได้บ้าง
การรักษาแผลเป็น จะขึ้นอยู่กับประเภทของแผล ทั้งนี้เพื่อให้รักษาได้อย่างตรงจุด และไม่ทำให้กลายเป็นคีลอยด์ ซึ่งมีวิธีลบรอยแผลเป็นอยู่หลายวิธี ดังนี้
1. ใช้แผ่นซิลิโคนเจลใสๆ (Silicone gel sheet) หรือแผ่นเทปเหนียว (Microporous Tape)
การใช้แผ่นซิลิโคนเจลใสนี้เป็นวิธีการดั้งเดิม โดยให้นำมาปิดบนบาดแผลตลอด 12-24 ชั่วโมง ติดต่อกันอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้ความชุ่มชื้นและลดการอักเสบแก่ผิวหนัง ใช้กับแผลที่ไม่ต้องผ่าตัด
2. ฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid injections)
เพื่อลดการอักเสบ รักษาแผลเป็นคีลอยด์ให้ยุบลงหรือจางลง ด้วยการฉีดเข็มเล็กๆ ลงไปที่แผลหลายๆ ครั้ง โดยทั่วไปจะฉีด 3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4-6 สัปดาห์
3. การผ่าตัด
มีการผ่าตัดหลายแบบขึ้นอยู่กับประเภทของแผลเป็น และอาจผ่าตัดร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่นด้วย
4. การขัดกรอผิวหนัง (dermabration)
การรักษาด้วยวิธีนี้จะใช้กับแผลเป็นที่มีลักษณะเป็นรอยขรุขระไม่เรียบ หรือเป็นแผลหลุม โดยใช้หัวกรอหรือเลเซอร์ปรับสภาพผิวให้เรียบ
5. ใช้แผ่นผ้าแปะกด (pressure dressings)
วิธีลบรอยแผลเป็นนี้ ใช้รักษาแผลจากการไหม้ขนาดใหญ่ หรือการปลูกถ่ายผิวหนัง จะรักษาต่อเนื่องประมาณ 6-12 เดือน
6. รักษาด้วยเลเซอร์ (Laser therapy)
หากต้องการให้แผลเป็นดูจางลงสามารถรักษาด้วยเลเซอร์ได้ มักใช้กับแผลเป็นจากหลุมสิวลึก หรือแผลเป็นที่มีสีเข้มที่ต้องการให้จางลง ซึ่งจะต้องควบคุมดูแลการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาแผลเป็นเท่านั้น
7. ฉีดฟิลเลอร์ (Dermal fillers)
เป็นการรักษาแผลเป็นหลุมสิวด้วยการฉีดสารเติมเต็มเข้าไปในผิวทำให้ผิวดูตื้นขึ้นได้ ซึ่งมักมีค่าใช้จ่ายสูง และต้องฉีดซ้ำบ่อยๆ แต่สารที่ฉีดนั้นไม่เป็นอันตราย
8. Skin needling
วิธีลบรอยแผลเป็นนี้ เป็นการใช้เครื่องมือที่มีเข็มขนาดเล็กจำนวนมากกดลงบนผิวหน้า และต้องทำซ้ำเรื่อยๆ จึงจะเห็นผลชัดเจน
9. ใช้ยาทาแก้แผลเป็น (Topical products)
วิธีง่ายๆ ในการรักษาแผลเป็นก็คือการซื้อยาทาแผลเป็นจากร้านขายยามาใช้ ในยาจะมีส่วนผสมที่ช่วยซ่อมแซมแผลให้หายเร็วและจางลงได้
10. การสักสีผิว
หากรอยแผลเป็นมีสีเข้มขึ้นหรืออ่อนกว่าสีผิวมาก แพทย์อาจใช้วิธีลบรอยแผลเป็นโดยการสักสี เพื่อทำให้สีผิวสม่ำเสมอกันมากที่สุด
11. ลอกผิวด้วยกรดผลไม้ (Chemical Peeling)
แผลเป็นที่ตื้นๆ และเล็กๆ แพทย์อาจแนะนำการใช้สารเคมีขจัดผิวชั้นบนออก โดยจะใช้ความเข้มข้นและชนิดของสารเคมีที่แตกต่างกัน
12. การฉีดสารเคมี
สารเคมีที่ใช้ฉีดจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ Interferon (alpha, beta และ gamma), Intralesional 5-fluorouracil และ Bleomycins โดยจะฉีดเข้าไปบริเวณแผล ทำให้แผลเล็กลง และนิ่มขึ้นได้
13. ทำไอพีแอล (Intense pulse light – IPL)
การรักษาวิธีนี้คือการใช้พลังงานของแสงระดับหนึ่งในการเรียงตัวของเนื้อเยื่อ ทำให้แผลเล็กลง และจะต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง
14. ฉายรังสี (Radio therapy)
วิธีลบรอยแผลเป็นนี้ เพียงแต่ช่วยป้องกันไม่ให้แผลเป็นนูนมากขึ้นเท่านั้น เป็นการรักษาวิธีหนึ่งเพื่อป้องกันการนูนหรือขยายตัวของแผลเป็น
15. การใช้ความเย็นหรือไนโตรเจนเหลว (Cryotherapy)
โดยการใช้เครื่องทำความเย็นจี้บริเวณแผลเพื่อให้เกิดภาวะถุงน้ำและแตกสลายไป ซึ่งช่วยลดขนาดของแผลเป็นนูนลงได้
16. ใช้แรงกด (Pressure therapy)
เป็นวิธีการรักษาที่มีมานาน โดยใช้แรงกดให้แผลมีขนาดแบนลง ซึ่งจะทำต่อเนื่องกันหลายเดือน และใช้วิธีการรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย